
เมื่อเข้าใจหน้าที่เขาว่าเขามีหน้าที่อะไร เราถึงจะเข้าใจว่าเราควรเลือกเขาอย่างไร เพื่อทำงานให้เราได้เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุด
ปลั๊กไฟคือรัยอ่ะ
ปลั๊กไฟ ปลั๊กรางไฟ ปลั๊กพ่วง ชุดสายพ่วงหรือชื่ออื่นใดๆก็ตามที แต่อุปกรณ์ที่กำลังพูดถึงทำหน้าที่เป็นชุดต่อปลั๊กไฟที่มีสายไฟนำกระแสไฟไปในที่ๆเราสะดวกต่อการใช้งาน ในระยะที่ห่างออกไป ด้วยการใช้สายไฟฟ้าเพื่อเพิ่มระยะห่าง ดังนั้นเราจึงพูดถึงปลั๊กไฟ หรือรางไฟ ที่มีสายไฟต่อเชื่อมไว้พร้อมเสร็จจากผู้ผลิตโดยตรง
ผู้ใช้งานทั่วๆไป มักจะเข้าใจเพียงว่าเมื่อต่อไฟฟ้าให้เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถเปิดติดใช้งานได้แค่นั้นก็เพียงพอ ดังนั้นเป้าหมายการเลือกซื้อชุดสายพ่วงจึงใช้ราคาที่ต่ำกว่าเป็นข้อสำคัญในการเลือกซื้อ เพราะคิดว่าอะไรก็ได้ที่ต่อแล้วใช้งานได้ การใช้งานของชุดสายพ่วงมีความสำคัญมากๆเทียบได้กับประตูด่านแรกของการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาต่อใช้งาน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ราคาแพงๆ เช่นมือถือ หรือเครื่องเสียงราคาสูง หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกๆ เช่นหม้อกระทะไฟฟ้า ทีวี เป็นต้น ทั้งหมดล้วนอายุสั้นได้ถ้าเลือกเขา ไม่เหมาะสม ไม่เพียงแต่คุณสมบัติที่ไม่เหมาะต่อการใช้งานแล้ว ตัวเขาเองก็ยังมีเรื่องที่ต้องคำนึงเช่น ชนิดวัตถุดิบ การออกแบบสินค้า ออกแบบขบวนการการผลิต เทคนิคการผลิต การควบคุมการผลิต ล้วนมีผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานทั้งสิ้น และนั่นก็เป็นเหตุผลของต้นทุนสินค้าต่างกันไป (จะได้กล่าวถึงในรายละเอียดมากขึ้นต่อไป) – ตามอ่านกันนะครับมีความรู้เรื่องปลั๊กไฟอีกมากมาย
เสียบแล้วใช้งานได้ แล้วเป็นไง อย่าคิดมาก ใช้ๆไปเถอะ
อันตรายมากนะ ถ้าคิดแค่นั้น ประสบการณ์ต่างๆมากมาย อันเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะคาดไม่ถึงว่าเกิดจากปลั๊กไฟหรือชุดสายพ่วง เขานี่แหละ ตัวการสำคัญ (ประสบการณ์จากช่างซ่อมคอมพิเตอร์) ในอดีตก่อนที่ชุดพ่วงจะถูกให้ความสำคัญมีมาตรฐานบังคับ เมื่อใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ เราอาจจะพบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์มีอาการรวนติดขัด ใช้งานไม่ได้ เมื่อนำไปซ่อม ช่างก็แจ้งว่าไม่มีอะไรเสียหาย หาสาเหตุไม่เจอ คิดค่าเปิดเครื่องห้าร้อยบาท ความจริงคือช่างเปิดมาแล้วเห็นว่าตรงไหนมีคราบสกปรกก็ใช้น้ำยาล้างคราบสกปรก (หรือน้ำยาล้างหน้าคอนแทค) ทำความสะอาดตำแหน่งเชื่อมต่อภายใน ถ้าไม่มีน้ำยาล้างช่างก็ใช้เพียงยางลบๆคราบนั้นออก ในกรณีที่เป็นแถบเชื่อมต่อบนแผ่นวงจรพีซีบี (PCB) ภายในตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ แม้จะสามารถแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ แต่ปัญหานั้นไม่ได้ถูกแก้ เพราะเมื่อนำกลับมาใช้งานปลั๊กไฟที่เขาตัวเดิม โดยไม่ได้คิดว่าเขานั้นแหละตัวการปัญหา ปัญหามันคืออะไร สาเหตุของปัญหานี้คือการนำกระแสไฟให้กับคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอและไม่สม่ำเสมอ การทำงานของคอมพิวเตอร์ภายในทำงานอย่างไม่เสถียร กระแสการทำงานมีการสะดุด สิ่งที่ตามมาคือ จะเกิดการสปารค์ในตำแหน่งเชื่อมต่อภายในจะเกิดคราบเขม่าที่มีผลต่อการเชื่อมกระแสไฟ เมื่อลบคราบนั้นออกไป เครื่องจะกลับมาทำงานได้เหมือนปรกติ ผลนี้เกิดจากสายไฟที่มีขนาดเล็กไป การเชื่อมต่อจากเต้ารับเต้าเสียบและชิ้นส่วนอื่นๆ เช่นสวิทช์ ของปลั๊กพ่วงนี้ไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในปลั๊กไฟ ที่เราไม่สามารถทราบได้ว่าดีหรือไม สาเหตุต่างๆเหล่านี้ยังมีผลให้เครื่องร้อนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือเครื่องแปลงไฟต่างๆก็ร้อนมากกว่าปรกติ เป็นต้นเหตุให้อายุของอุปกรณ์นั้นๆสั้นลง
มีอีกเหตุการณ์ที่หลายคนที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่าง โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์รู้สึกว่ามีกระแสดูดน้อยๆเมื่อเราสัมผัสตัวเครื่องที่เป็นโลหะ นั่นคือเกิดจากกระแสรั่วหรือเกิดจากการเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสที่เครื่องนั้นๆ ปรกติหลักการของสายดินจะมาช่วยแก้ปัญหานี้เนื่องจากมีความต้านทานของขั้วสายดินมีน้อยกว่าตัวเรา โดยธรรมชาติกระแสจะไหลไปในที่ๆมีความต้านทานต่ำกว่า นี่เป็นข้อกำหนดหนึ่งของการทดสอบคุณสมบัติว่าเขาหรือปลั๊กไฟ มอก. 2432-2555 พร้อมทำงานตามมาตรฐานหรือไม่
เมื่อใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ากับเขาแล้ว อยู่ดีๆก็ใช้ไม่ได้ ก่อนจะมีการกำหนดมาตรฐาน มอก. เป็นมาตรฐานบังคับ สายไฟที่ผลิตขึ้นเป็นปลั๊กไฟหรือชุดสายพ่วงจะมีตั้งแต่ขนาด 2×0.5 Sqmm. เป็นขนาดที่เล็กสุด และสามารถใช้งานให้กระแสไฟได้สูงสุดเพียง 5 แอมป์ หรือ 1000 วัตต์ การจำกัดกระแสการใช้ด้วยระบบฟิวส์ (Fuse) ซึ่งจะกำหนดกระแสด้วยเส้นโลหะเล็กๆภายในหลอดแก้ว เช่น 5 แอมป์ 10 แอมป์ เป็นต้น ทำหน้าที่เป็นสะพานให้กระแสผ่านไปยังเต้ารับในปลั๊กไฟ เมื่อใช้กระแสเกินกว่าที่กำหนดเส้นโลหะในหลอดแก้วแล้ว เส้นนี้จะขาด มีหลายท่านเมื่อทราบเช่นนี้ก็ใช้สายทองแดงจากสายไฟไปแทนการใช้หลอดฟิวส์ด้วยต้องการให้การใช้งานไม่ขาดชะงัก เป็นสาเหตุให้ทุกชิ้นส่วนทำงานเกินความสามารถ อุปกรณ์ฟิวส์จะร้อน ขั้วเต้ารับจะร้อนมากขณะใช้งาน สิ่งที่ตามมาคือการละลายของชิ้นส่วนพลาสติก ปลั๊กไฟบริเวณใกล้กับขั้วของเต้ารับ บริเวณที่ติดตั้งฟิวส์ นี่ยังไม่รวมถึงการที่ผู้ผลิตปลั๊กไฟใช้ฟิวส์ที่ไม่ได้คุณภาพใช้วัสดุแบบที่ทนความร้อนได้ไม่ได้สูง และไม่รวมขั้วของเต้ารับที่ตัวปลั๊กไฟก็ทำขึ้นจากเหล็ก หรือเหล็กสปริงก็ตามแล้วชุบเป็นสีเหลืองทองเพื่อให้ความรู้สึกว่านี่คือทองเหลือง ในอดีตผู้ผลิตบางรายจึงมีการติดข้อความบอกกล่าวว่าใช้ขั้วทองเหลืองแท้ ขั้วภายในเต้ารับที่เป็นเหล็กไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อใช้งานร่วมกับเต้าเสียบเพียงไม่กี่ครั้ง ขั้วของเต้ารับที่มีวัสดุเป็นเหล็กจะอ้าค้าง แรงบีบรัดของขั้วบนเต้ารับนี้น้อยลง การเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าจะด้อยลง ผลให้เกิดความร้อนขึ้นในบริเวณนี้ เมื่อใช้งานนานๆเข้า พลาสติกบริเวณนี้ก็อาจจะละลายได้ เกิดการลัดวงจรได้ในที่สุดเมื่อพลาสติกบริเวณนี้ละลายจนทำให้ขั้วทั้งสองต่อกันได้ ก่อนพลาสติกจะละลาย ความร้อนนั้นอาจทำให้พลาสติกลุกเป็นไฟขี้นได้ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้พลาสติกทนการลามไฟ หรือ เกรด วีศูนย์
โครงสร้างของปลั๊กรางในตลาดอาจจะพบเป็นโลหะ และพลาสติก จำนวนที่ใช้เป็นโลหะ มักจะเป็นเหล็กชุปสี มีปริมาณน้อยมากๆ ผู้ผลิตที่ใช้วัสดุประเภทนี้จึงมักทำปลั๊กไฟที่มีราคาค่อนข้างสูง มีความปลอดภัยสูง ส่วนที่ใช้พลาสติกเป็นวัสดุจะมีปริมาณเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ความหลากหลายของการใช้คุณภาพของพลาสติกจึงมีมาก คุณภาพที่แตกต่างก็ทำให้ต้นทุนที่แตกต่างด้วยเช่นกัน มีได้ตั้งแต่ใช้ เนื้อพลาสติก พีพี (PP : polypropylene) ABS (Acrylonitrile butadiene styrene) ทั้งชนิดที่ใช้ในงานทั่วไป และ ชนิดไม่ลามไฟ หรืออาจจะเป็น PC (Poly Carbonate) หรือแล้วแต่ผู้ผลิตที่จะนำมาใช้ รวมไปถึงการใช้เนื้อพลาสติกแบบนำมาใช้ซ้ำหรือเรียกอีกอย่างว่าเนื้อเกรดสอง แต่ที่สำคัญคือการคำนึงถีงปลอดภัย ไม่ลามไฟ เป็นปัจจัยหลัก